เปิดสถิติคุณแม่สายเปย์ ขาช้อปออนไลน์พุ่งขึ้น 62.43%

เปิดตลาดคุณแม่สายเปย์ ขาช้อปออนไลน์พุ่งขึ้น 62.43%

กลุ่มคุณแม่ไทย เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงและเป็นเป้าหมายทางการตลาดที่น่าจับตามองครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์และบริการตั้งแต่ผลิตภัณฑ์สำหรับลูกน้อย ไปจนถึงสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า  ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพฤติกรรมที่เห็นชัดเจนของคุณแม่ไทยในเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ตและการใช้ชีวิตในรูปแบบดิจิทัลได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายและเป็นโอกาสสำหรับนักการตลาดในการที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ เพราะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการตัดสินใจซื้อสูง ที่ไม่ได้ซื้อเฉพาะสำหรับตนเองเท่านั้น ยังรวมถึงทุกคนในครอบครัว  โดยการทำการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มคุณแม่ในปัจจุบันนี้ จำเป็นต้องเน้นในเรื่องของดิจิทัลเป็นลำดับแรก

จากการสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพสื่อ และการใช้จ่ายในครัวเรือนของกลุ่มคุณแม่ชาวไทยกว่า 1,000 คน พบว่า

  • คุณแม่ชาวไทยส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ โดยการใช้งานมากถึง 46.69%
  • ใช้งานเพิ่มมากขึ้นกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันมีถึง 20.75%
  • ส่วนใหญ่จะใช้ไปกับการท่องโซเชียลมากที่สุดรวม 77.10%
  • รองมาเป็นการเข้าไปหาข้อมูลตามเว็บไซต์เกี่ยวกับครอบครัวถึง 75.31%
  • ซื้อของออนไลน์ทั้งหมด 62.43%
  • เสิร์ชหาข้อมูลทั่วไปทางอินเตอร์เน็ต 42.58%
  • เช็คอีเมล์ 37.57%
  • อื่นๆ 4.29%

โดยอุปกรณ์ที่ใช้ค้นหาข้อมูล

  • เป็นโทรศัพท์มือถือ 91.95% ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-3 ชั่วโมงต่อวัน
  • คอมพิวเตอร์ 7.51% ใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน
  • แท็บเล็ต 0.54% ใช้เวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน

ในกรณีที่คุณแม่มีปัญหาหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับครอบครัวและเด็ก

  • ส่วนใหญ่จะเข้าไปค้นหาข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับครอบครัว 76.03%
  • ค้นหาข้อมูลจากการเสิร์ช 68.69%
  • สอบถามจากบุคคลใกล้ชิด 57.25%
  • ถามจากหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ 51.88%
  • ดูตามโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก และเฟซบุ๊ก กรุ๊ป 44.72%

แอปพลิเคชั่นที่คุณแม่มักใช้ในการสื่อสาร

  • Line 89.45%
  • Facebook Messenger  89.27%
  • Instagram 20.39%
  • WhatsApp 2.33%
  • Wechat 2.15%

โดยที่แม่ส่วนใหญ่มักจะชอบเข้าไปมีปฎิสัมพันธ์กับคุณแม่ท่านอื่นๆ ผ่านกลุ่มของเฟซบุ๊กหรือชุมชนออนไลน์ต่างๆ เกือบตลอดทั้งวัน 30.05% ทั้งยังมีบัญชีโซเชียล (Social Media accounts) ที่เป็น Facebook มากเป็นอันดับหนึ่ง 97.50% รองลงมาเป็น Line 93.02% ที่ต่างจากกันเพียงเล็กน้อย ถัดมาเป็น Instagram 60.11%  YouTube 55.46% และ Twitter 20.39%

เสิร์ชหาข้อมูล-ดูรีวิวก่อนตัดสินใจซื้อ

การติดตามโซเชียลมีเดียของสินค้าและบริการแบรนด์ต่างๆ นั้น คุณแม่มักจะติดตามเพราะต้องการอัพเดตสินค้าล่าสุดหรือข้อเสนอใหม่ๆ เป็นอันดับแรก 77.10% รองลงมา คือ ต้องการทราบถึงโปรโมชั่น และส่วนลดต่างๆ 74.42%

สำหรับประเภทของสินค้าหรือบริการที่คุณแม่ติดตามมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ สินค้าเด็ก 87.30% สินค้าแฟชั่นและของออนไลน์ 57.96% อาหาร 52.95% สุขภาพ 41.68% และการท่องเที่ยว 36.49%

เวลาค้นหาข้อมูลของสินค้าหรือบริการสำหรับเด็ก คุณแม่มักจะทำการเสิร์ชหาข้อมูล/ดูรีวิวสินค้าหรือบริการเป็นอันดับแรก 74.42% ถัดมาจะดูจากเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับครอบครัว 70.13% ดูจากโซเชียลมีเดีย 55.10% และสอบถามจากบุคคลใกล้ชิด 41.86% โดยก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการมักจะทำการเสิร์ชหาข้อมูล/ดูรีวิวสินค้าหรือบริการเป็นอันดับแรกเช่นเดียวกัน 62.97% ดูตามเว็บไซต์/แอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับครอบครัว 58.14% และสอบถามจากบุคคลใกล้ชิด 49.91%

ทางด้านของการซื้อสินค้าออนไลน์ แม่ไทยส่วนใหญ่จะซื้อของอย่างน้อยเดือนละครั้ง คิดเป็น 91.05% แบ่งเป็น ซื้อประมาณ 2-3 ครั้งต่อเดือน 31.66% ซื้อเดือนละครั้ง 30.05% หลายครั้งต่อสัปดาห์ 15.21% และทุกสัปดาห์ 14.13% เหตุผลที่คุณแม่ชอบซื้อสินค้าออนไลน์เพราะว่าสะดวก 83.89% ประหยัดเวลา ไม่ต้องออกจากบ้าน 83.10% และยังได้ราคาที่ถูกกว่า โปรโมชั่นที่ดีกว่า 77.41%

Facebook อันดับ 1 ช่องทางซื้อออนไลน์

ประเภทสินค้าที่คุณแม่มักจะซื้อผ่านทางออนไลน์บ่อยๆ 5 อันดับได้แก่ เสื้อผ้าเด็ก 74.26% รองลงมาเป็น ของใช้เด็ก 69.55% เสื้อผ้าสำหรับแม่เอง 45.38% สินค้าเกี่ยวกับเครื่องสำอางและความงาม 39.29% ของใช้ทั่วไป 39.10% ของใช้ภายในบ้าน 27.31% และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 11.79%

สำหรับช่องทางที่ใช้ซื้อของออนไลน์ อันดับหนึ่งคือ Facebook 75.44% อันดับรองลงมา คือ Lazada 70.73% ถัดมาเป็น Shopee 61.49% และ Line 42.24%

โดยที่ “คุณแม่” กว่า 98% มักจะเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้อของเข้าบ้าน และ 58.86% มักจะเป็นคนตัดสินใจซื้อของเข้าบ้านทุกครั้ง ส่วนอีก 39.18% จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นบ้างในบางโอกาส

ขอบคุณที่มา marketingoops.com