ทำไมไทยเครดิตฯ ถึงเป็นแบงก์อันดับหนึ่งของพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดตัวจริง
ในขณะที่ดิจิทัล ดิสรัปชั่น กำลังสวมบทธานอส ไล่ดีดนิ้วองค์กรบริษัทไปทั่วโลก โดยเฉพาะสถาบันการเงิน “แบงก์กำลังจะหายไป” กลายเป็นคำที่ใกล้ความจริงขึ้นเรื่อยๆ ทุกเจ้าต้องปรับโครงสร้างปลดคนออก ลดค่าธรรมเนียมบริการ ลดจำนวนสาขา ปรับตัวต่อสู้
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกแบงก์ที่ต้องเผชิญวิกฤต “Survival” ถ้าดูธนาคารที่มีโมเดลธุรกิจและมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างออกไปอย่าง “ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย” ที่สาขากับพนักงานกลับเติบโตสวนกระแสธานอสซะอย่างนั้น
รอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เล่าว่าวันนี้มี 461 สาขา มีพนักงานกว่า 3,000 คน ย้ำว่าไม่มีลด มีแต่เพิ่ม เพื่อบริการลูกค้าอย่างใกล้ชิดและทั่วถึงยิ่งขึ้น
มุ่งมั่นช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าในตลาด
เพราะเป็นธนาคารขนาดเล็ก หากเทียบกับธนาคารใหญ่ การสู้แบบแลกหมัดต่อหมัด คงไม่ใช่วิธีที่จะอยู่รอดได้ แบงก์เล็กต้องชิงจุดเด่นของตัวเอง สร้างความแตกต่างเพื่อช่องทางโอกาสการเติบโต
หลังจากได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ยกระดับขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เมื่อ 18 มกราคม 2550 ในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการรายย่อย และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทั่งปี 2558 ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบสินเชื่อนาโนเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย ซึ่งนี่คือโอกาสของการสร้างความแตกต่าง เพื่อเป็นธนาคารที่ลูกค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ครอบคลุมมากขึ้น
กว่า 12 ปีของธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เน้นให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้ารายย่อย และในปัจจุบัน มุ่งเจาะ 2 กลุ่มลูกค้า โดยกลุ่มแรก คือผู้ประกอบการรายย่อย (นาโนและไมโครไฟแนนซ์) หรือพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ซึ่งมีจำนวน Overall market กว่าหนึ่งล้านรายทั่วประเทศ จาก 5,000 ตลาด ที่เป็นตลาดสดเปิดทุกวัน กลุ่มนี้เป็นลูกค้าตลาดหลักของธนาคารไทยเครดิตฯ
“กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก แต่ปัญหาคือเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน แม้จะมีแผงขายประจำ มีรายได้หมุนเวียนสม่ำเสมอ แต่ปัญหาคือไม่มีการทำธุรกรรมกับธนาคาร ไม่มีหลักฐานทางการเงิน บางครั้งช็อต ครอบครัวเจ็บป่วยทำงานไม่ได้ หมุนเงินไม่ทัน พวกเขามักถูกปฏิเสธจากธนาคาร หลายคนจึงเลือกใช้เงินกู้ที่มีค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสูง หรือจากแหล่งเงินกู้นอกระบบที่ส่งผลกระทบในระยะยาวภายหลังที่เราเห็นกันตลอด”
“ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มลูกค้าไมโครเอสเอ็มอี เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก อย่างร้านโชว์ห่วย หรือร้านค้าที่อยู่ด้านนอกตลาด ซึ่งปกติมักเป็นธุรกิจครอบครัวที่ทำธุรกรรมด้วยเงินสดเท่านั้น ไม่มีการจัดทำงบการเงินอย่างเป็นระบบ กลุ่มนี้ก็จะมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อขยายธุรกิจ ขยายร้าน เราก็จะเข้ามาซัปพอร์ตจุดนี้”
เรียกว่าไม่ใช่แค่ “เห็นศักยภาพ” ของพ่อค้าแม่ค้าเท่านั้น แต่ยัง “เห็นโอกาส” ที่พ่อค้าแม่ค้าจะพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนทักษะความรู้อันเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืนด้วย
จากจุดเริ่มต้นของไทยเครดิตฯ ในฐานะแบงก์เล็ก คือการหาตำแหน่งของตัวเองให้เจอ สร้างฐานรากที่มั่นคงและแข็งแกร่งผ่านไปแล้วกว่า 12 ปี พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ใช่แค่มีรากที่แข็งแรง แต่ยังเติบโตต่อยอด แตกกิ่งก้านสาขาค้ำจุนผู้ประกอบการไทยรายย่อย พ่อค้าแม่ค้าเหล่าคนรากหญ้า ที่เป็นฐานเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง
ทาง Chess Studio รับทำเว็บไซต์ ขอให้ทุกท่านอัพเดทและติดตามข่าวสารอยู่ตลอดค่ะ
Cr.www.marketeeronline.com