แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ หวังเพิ่มการใช้จ่าย-ดันเศรษฐกิจโตเพิ่ม 0.5%
ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 316,813 ล้านบาท เป็นใช้เงินนอกงบประมาณจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออมสิน กรุงไทย 270,000 ล้านบาท เงินโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 20,000 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 4 มาตรการหลัก คาดกระตุ้นเศรษฐกิจโตเพิ่มเป็น 3.5% แต่ไม่ยอมผ่านมาตรการยกเว้นวีซ่าจีน-อินเดีย
เพิ่มเงินช่วยเหลือผ่านบัตรคนจน
นายลวรรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวชี้แจงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 ว่า ประกอบด้วย 4 ด้านหลัก
มาตรการ 1 บรรเทาค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกองทุนหมู่บ้าน ระหว่างเดือน ส.ค.-ก.ย.2562 ประกอบด้วย
1.ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ทุกคน 14.5 ล้านคน จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน
2.ผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน
3.ช่วยเหลือการเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ที่มีอายุ 0 ถึง 6 ขวบ ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกจำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นเวลา 2 เดือน
4.พักชำระหนี้เงินต้นของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่คงค้างกับสถาบันการเงิน 50,732 แห่ง โดยเป็นหนี้ ธ.ก.ส. 27,249 แห่ง และธนาคารออมสิน 23,483 แห่ง โดยพักชำระหนี้เฉพาะเงินต้นเท่านั้น
ช่วยกู้ภัยแล้ง—แจกเที่ยว 1,000 บาท
มาตรการที่ 2 บรรเทาค่าครองชีพสำหรับเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้งปี 2562 ประกอบด้วย 1.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดย ธ.ก.ส.จะให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลา 1 ปี เริ่มวันที่ 1 ส.ค.2562 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2563 2.ขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ระยะเวลา 2 ปี และ 3.สนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่
มาตรการที่ 3 กระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ประกอบด้วย
1.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช็อปใช้” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และสนับสนุนการใช้จ่ายผ่านระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) โดยผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปในวันลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการผ่านทางเว็บไซต์ โดยผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์
2 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ 1.รัฐบาลสนับสนุนเงิน 1,000 บาทต่อคน เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ แต่ไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ และ 2.หากผู้ลงทะเบียนใช้เงินเพิ่มเพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก หรือค่าสินค้าท้องถิ่นจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ รัฐบาลจะชดเชยเงินคืนให้เป็นจำนวนเท่ากับ 15% ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน ซึ่งเท่ากับวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
มาตรการที่ 4 สุดท้ายคือ แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและงบลงทุนของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี รมว.คลัง เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการประกอบด้วย ส่วนราชการที่ได้รับการจัดสรรงบลงทุนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ทั้งนี้ นายลวรรณ กล่าวด้วยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 นี้ คาดว่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตได้มากขึ้น 0.5% จากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3% จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 3.5%
ตีตกค้านยกเว้นวีซ่าจีนและอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม ครม.ไม่เห็นชอบ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอให้ยกเว้นการตรวจลงตรา (วีซ่า) สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย โดยในกรณีนี้มีการหารือเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวาง ในที่สุด ครม.เห็นชอบเพียงการต่ออายุการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on arrival) 2,000 บาทสำหรับนักท่องเที่ยวจาก 18 ชาติ และ 1 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งในนี้มีจีนและอินเดียที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 ต.ค.นี้ ออกไปอีก 6 เดือน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เหตุที่ ครม.ไม่เห็นชอบยกเว้นวีซ่าให้จีนและอินเดียเพราะต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคง ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ครม.มีมติขยายการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (VOA) ไปถึงสิ้น เม.ย.2563 เพราะต้องการสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ไปจนถึงช่วงตรุษจีนและเทศกาลสงกรานต์ด้วย แต่ไม่มีเรื่องการยกเว้นวีซ่า
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ครม. รัฐมนตรีหลายคนออกความเห็นคัดค้านมาตรการดังกล่าว โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้ระบุว่า จะกระทบกับความมั่นคง และไทยต้องการสนับสนุนนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเข้ามามากกว่าปริมาณ ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แสดงความเป็นห่วงความเพียงพอของสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงความเป็นห่วงว่าอาจทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเกินกว่าปริมาณที่ธรรมชาติในเขตป่าไม้และอุทยานจะรับไหว และทำให้ปริมาณขยะในป่าไม้และทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้นหากไม่มีการจัดการที่ดีพอ
ทั้งนี้ เมื่อมีเสียงคัดค้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้พยายามขอให้ ครม.เห็นข้อดีของมาตรการนี้ที่จะดึงกำลังซื้อจากนักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย โดยขอให้ทดลองดูในระยะเวลาสั้นๆก่อน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่ได้รับความยินยอมและสนับสนุนจากรัฐมนตรีอื่นๆ นายพิพัฒน์จึงยอมถอย.
ทาง Chess Studio รับทำเว็บไซต์ ขอให้ทุกท่านอัพเดทและติดตามข่าวสารอยู่ตลอด
Cr.www.thairath.co.th