ต้นยางพารา

สวนยางเฮ! ประกันรายได้ จ่อเสนอครม. สั่งคุมเข้มงบ

 สวนยางเฮ! ประกันรายได้ จ่อเสนอครม. สั่งคุมเข้มงบ

สวนยาง

รมว.เกษตรฯพร้อมนำผลสรุปโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารานำเสนอ ครม. เร่งหยุดเลือดเกษตรกรที่ขาดทุนมากว่า 5 ปี คาดใช้งบประมาณกว่า 7 หมื่นล้านบาท มั่นใจเงินบาทแรกจะถึงมือชาวสวนยางในวันที่ 15 ธันวาคม 62 นี้แน่นอน ชี้มาตรการต่างๆเป็นความเห็นชอบร่วมกันทั้งภาครัฐ ผู้แทนสถาบันเกษตรกร และผู้แทนผู้ประกอบการ โดยจะทำควบคู่กับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางอย่างยั่งยืน

หลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เชิญทุกภาคส่วนมาประชุมสรุปแผนการดำเนินงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและลดผลกระทบให้เกษตรกรกรณีราคายางพาราตกต่ำ โดยนายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รักษาการผู้ว่าการ กยท. ได้สรุปมาตรการโดยละเอียดแล้วนั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ก.ย.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าเตรียมจะนำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 นำเสนอให้ ครม.พิจารณา โดยระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 62-กันยายน 63 เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการคือกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 62 รวมพื้นที่ปลูก 17,201,390.77 ไร่ เกษตรกร 1,412,017 รายและคนกรีด 299,235 ราย โดยรวมทั้งเกษตรกรที่ถือบัตรสีเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่มีเอกสารสิทธิและบัตรสีชมพู ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวสวนยางที่เดือดร้อนจากการขายยางขาดทุนมากว่า 5 ปีอย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ราคายางที่ประกันรายได้กำหนดให้สำหรับยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม และยางก้อนถ้วย (DRC 100%) 50.00 บาท/กิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้เป็นยางแห้ง 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน ซึ่งเตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างจากการขายยางเมื่อเทียบกับราคาในโครงการประกันรายได้เป็น 3 กรณีคือ รายละไม่เกิน 25 ไร่ จะใช้งบประมาณ 26,627,343,816.59 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ จะใช้งบประมาณ 24,928,133,299.41 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ จะใช้งบประมาณ 22,280,417,136.65 บาท

รมว.เกษตรฯกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังกำหนดให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการต้องปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นหรือเลี้ยงปศุสัตว์ร่วมในสวนยาง เป็นต้น เพื่อเพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน สำหรับการจ่ายเงินจะโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย 2 เดือนจ่าย 1 ครั้ง สำหรับงบประมาณนั้น ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนและให้ ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณในปี 2564 ประกอบด้วย งบสำหรับการประกันรายได้ตามโครงการ งบชดเชยต้นทุนเงินต้น ธ.ก.ส.ค่าใช้จ่ายในการโอนให้เกษตรกร และค่าบริหารโครงการเหมาจ่ายร้อยละ 1 ของวงเงินชดเชยรายได้

นายเฉลิมชัยกล่าวอีกว่า กระบวนการดำเนินงานจะมี 4 ขั้นตอนคือ การประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์และผู้มีสิทธิ์แจ้งเข้าร่วมโครงการ การตรวจสอบสิทธิ์ กยท.ประมวลผลและรวบรวมข้อมูลส่ง ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีเกษตร แล้วแจ้ง กยท.ทราบ นอกจากนี้ยังได้กำหนดเวลาดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ โดยเริ่มประชาสัมพันธ์โครงการตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 62 และเงินบาทแรกจะถึงมือชาวสวนยางในวันที่ 15 ธันวาคม 62 นี้แน่นอน ทั้งนี้ ได้วางมาตรการการใช้งบประมาณในโครงการนี้อย่างเคร่งครัด โดยแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแล 4 คณะคือ คณะกรรมการบริหารโครงการฯ คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง คณะกรรมการบริหารโครงการฯระดับจังหวัด และคณะทำงานระดับตำบลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เมื่อบอร์ด กยท. เห็นชอบแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) แล้วนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด

“โครงการประกันรายได้เป็นมาตรการระยะสั้นที่ต้องเร่งทำเนื่องจากชาวสวนยางเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำมานาน เชื่อว่าเมื่อทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ได้แก่ การเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ การลดพื้นที่ปลูกยาง ตลอดจนการสร้างให้ไทยเป็นตลาดกลางยางพาราของโลกเพื่อป้องกันการบิดเบือนราคาจากตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศ ซึ่งไทยทำได้ในฐานะที่เป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก จะทำให้ราคายางพาราขยับสูงขึ้นตามกลไกของตลาดอย่างแท้จริงและมีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน” นายเฉลิมชัยกล่าว

ทาง Chess Studio รับทำเว็บไซต์ ขอให้ทุกท่านอัพเดทและติดตามข่าวสารอยู่ตลอดค่ะ

Cr.www.thairath.co.th